กลยุทธ์การบริหาร ญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้

ฮิโรทาคะ ทาเคอุจิ
คณะบดี บัณฑิตวิทยาลัย
สถาบันกลยุทธ์องค์กรระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิ



           คนทั้งในประเทศและต่างประเทศสงสัยว่า ญี่ปุ่นจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้หรือไม่ แต่อดีตสอนให้เรารู้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสามารถพิเศษ ในการปรับเปลี่ยนตัวเอง เมื่อเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ที่ผาสุกของตนเองกำลังเผชิญกับความเสี่ยง ญี่ปุ่นที่เรารู้จักทุกวันนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจหลัง ความวิบัติในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความพยายามนี้ประสบผลสำเร็จขึ้นมาก็เนื่องจากผู้นำของญี่ปุ่นในเวลานั้น ตระหนักถึงความจริงที่ว่า เศรษฐกิจถูกทำลายพังพินาศ ในขณะที่ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด จึงได้ดำเนินมาตรการพิเศษที่จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ


           ความสามารถในการปรับเปลี่ยนแม้จะอยู่ในช่วง ลำเค็ญเช่นนี้มีให้เห็นถึง 2 ครั้ง 2 คราในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกของญี่ปุ่น ยุคน้ำมันแพงต้นทศวรรษที่ 1970 ผลักดันให้ญี่ปุ่นต้องยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงกว่าปกติถึง 4 เท่าในปี 2516 บริษัทญี่ปุ่นหันมาลงทุนอย่างหนักในเรื่องเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของตนเอง วิกฤติน้ำมันช่วยจุดประกายให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี ประหยัดพลังงานของโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่นๆอีกหลายประเภท


           วิกฤติเงินเยนซึ่งเป็นการเพิ่มค่าเงินเยนถึง 100% หลังจากข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ซึ่งลงนามในเดือนกันยายน 2528 เพียง 2 ปี นำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้นในตลาดโลกเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายอย่าง บริษัทญี่ปุ่นหันมาปรับปรุงวิธีการผลิตกันขนานใหญ่ โดยปรับเปลี่ยนจากการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีต่ำทำให้สินค้ามีมูลค่าต่ำในตลาดต่างประเทศ มาสู่สินค้าที่ทันสมัยโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันเรื่องราคา วิกฤติเงินเยนเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรมที่ทันสมัย


           ญี่ปุ่นต่อสู้กับความยากลำบากในอดีตเหล่านี้ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างอาจหาญและเป็นระบบ เมื่อเริ่มวิกฤติครั้งก่อนญี่ปุ่นมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ปัจจุบันเป้าหมายและทิศทางของญี่ปุ่นขาดความชัดเจน สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำขณะนี้คือนำกลยุทธ์ใหม่ทางเศรษฐกิจมาใช้ โดยคำนึงถึงจุดแข็งและข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยใช้แข่งขันในอดีตควบคู่กับทัศนคติใหม่ๆที่ทันสมัย เกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลและเอกชนในระบบเศรษฐกิจโลก


           จากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเคยเปลี่ยนกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมมาแล้วครั้ง หนึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 ถึง 1950 ญี่ปุ่นแข่งขันในตลาดด้วยสินค้าราคาถูกและค่าจ้างแรงงานต่ำ โดยลอกเลียนแบบสินค้าของประเทศทางตะวันตก เมื่อมองเห็นถึงข้อจำกัดในกลยุทธ์ดังกล่าวญี่ปุ่นจึงปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ครั้งใหญ่ เพื่อเข้าสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ ด้วยแนวคิดของ W. Edwards Deming และ Joseph Juran ญี่ปุ่นจึงเริ่มหันมาแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าราคา วิธีและแนวทางที่ญี่ปุ่นเริ่มบุกเบิกนี้ทำให้โฉมหน้าของการแข่งขันในตลาด โลกเปลี่ยนไป บริษัทญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากราคาและคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้นมานานหลายปี อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติวิธีดำเนินธุรกิจโลก ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 โดยการใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management - TQM) การผลิตอย่างทันเวลา (Just-in-time Manufacturing - Kanban) และการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Kaizen)


           แต่ระยะหลังรูปแบบการบริหารดังกล่าวเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นต้องก้าวข้ามการแข่งขันด้านคุณภาพไปสู่การแข่งขันในระดับกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ที่โดดเด่น เพื่อสร้างผลกำไรให้ได้เหนือกว่าและยั่งยืนกว่า ดังนั้น การปรับปรุงรูปแบบการบริหารให้ดีเลิศไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆไม่เพียงเฉพาะในตัวสินค้าเท่านั้น รวมถึงรูปแบบการแข่งขัน ดังจะเห็นได้จากช่วงรอยต่อในอดีตว่า ถ้าเปลี่ยนทัศนคติได้ ญี่ปุ่นก็สามารถก้าวต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้มีความสำคัญด้อยไปกว่าครั้งก่อน ที่มุ่งเน้นเรื่องของคุณภาพเลย


           เพื่อเป็นการช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถนำกลยุทธ์ใหม่ๆมาใช้ บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันกลยุทธ์องค์กรระหว่างประเทศ(International Corporate Strategy - ICS) ของมหาวิทยาลัย ฮิโตซุบาชิ จึงกำหนดให้มีรางวัล Porter Prize ขึ้นในปี 2544 โดยหวังจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับในอดีตอีกครั้ง ญี่ปุ่นก้าวหนีจากการแข่งขันด้านราคามาแข่งขันเรื่องคุณภาพในทศวรรษที่ 1950 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ญี่ปุ่น (Union of Japanese Scientists and Engineers - JUSE) ให้มีการจัดตั้ง Deming Prize ขึ้นในปี 2494 ICS หวังว่ารางวัลใหม่ในด้านกลยุทธ์จะช่วยจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้ง ใหญ่เข้าสู่ยุคของการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ เช่นเดียวกับ Deming Prize ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของญี่ปุ่นในการก้าวสู่ยุคการแข่งขันด้านคุณภาพ


           ICS ต้องการจำลองประวัติศาสตร์ด้วยการจัดตั้ง Porter Prize ขึ้นหลัง Deming Prize นับเป็นเวลาครบ 50 ปีพอดี และเช่นเดียวกับ Deming Prize ที่ตั้งชื่อรางวัลตามบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านการควบคุมคุณภาพ (Dr. Edwards Deming) Porter Prize ก็ตั้งชื่อตามบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านกลยุทธ์การแข่งขัน และความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศคือศาสตราจารย์ Michael E. Porter แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บทบาทของ ICS ในส่วนของรางวัลนี้ก็เหมือนกับ JUSE ในอดีต ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดให้มีการแข่งขันชิงรางวัลดังกล่าวขึ้น


           ศาสตราจารย์ Porter กับมหาวิทยาลัย ฮิโตซุบาชิ มีความสัมพันธ์กันมานานตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ศาสตราจารย์ Porter และผมได้ร่วมศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ชื่อ The Competitive Advantage of Nationsของศาสตราจารย์ Porter ในปี 2533 ส่วนหนังสือที่เราร่วมแต่งขึ้นด้วยกันคือ Can Japan Compete ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่ ICS ได้สถาปนาเป็นบัณฑิตวิทยาลัยระดับมืออาชีพขึ้นเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่นที่ ฮิโตซึบาชิ ศาสตราจารย์ Porter เดินทางมาญี่ปุ่น 2 ครั้งในปีนั้น เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ ครั้งแรกเมื่อเปิดหลักสูตรภาคค่ำภาษาญี่ปุ่นของ ICS เมื่อเดือนเมษายน และอีกครั้งเมื่อเปิดหลักสูตรภาคกลางวันภาษาอังกฤษขึ้นในเดือนตุลาคม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ICS ได้ที่ http://www.ics.hit-u.ac.jp)


           Porter Prize ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการดำเนินงานและการเงินจาก Daiwa Institute of Research and Accenture โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 2 สาขา ประกอบด้วย (ก) สาขาการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจหรือประกอบอุตสาหกรรมประเภทเดียว และ (ข) หน่วยธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจหลายประเภทและสามารถสร้างกำไร และมีความยั่งยืนด้วยการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างและโดดเด่น เนื่องจากหัวใจสำคัญของกลยุทธ์คือการทำสิ่งที่แตกต่างจากผู้อื่น Porter Prize จึงคัดเลือกบริษัทและหน่วยธุรกิจที่เข้าแข่งขันในแนวทางที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมเฉพาะสาขา ด้วยการนำเสนอมูลค่าที่เป็นหนึ่งให้กับองค์กร และตัดสินใจเลือกว่าจะไม่ทำสิ่งใด การให้ความสำคัญกับกลยุทธ์คืดสิ่งที่ทำให้ Porter Prize แตกต่างจากรางวัลประเภทอื่นๆในญี่ปุ่น


           หลังจากผ่านขบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยนักวิชาการ 4 ท่านที่ไม่ขอเปิดเผยนาม บริษัทที่ได้รับ Porter Prize ครั้งแรกในปี 2544 มีทั้งหมด 4 บริษัท ที่ใช้วิธีแข่งขันในเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรมใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างผลกำไรได้สูงกว่าระดับเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมนั้น บริษัททั้งสี่ประกอบด้วย (ก) Mabuchi Motor และ Mitsui Securities ในสาขาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียว (ข) ฝ่ายเลนส์ ของ Canon และบริษัท Vision Care ของ HOYA ในสาขาหน่วยธุรกิจของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลายประเภท ในปี 2545 มีบริษัทที่ได้รับ Porter Prize จำนวน 3 แห่งคือ (ก) ASKUL และ Takeda Chemical Industries Ltd. ในสาขาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียว และ (ข) ฝ่ายการเงินองค์กรของ ORIX ในสาขาหน่วยธุรกิจของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลายประเภท


           ทั้งสองปีศาสตราจารย์ Porter เป็นผู้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับรางวัลด้วยตนเองในพิธีมอบรางวัลที่จัด ขึ้นต้นเดือนธันวาคม นอกจากจะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้นำในเชิงกลยุทธ์ของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการนำเรื่องราวของผู้ได้รับรางวัลไปเขียนเป็นกรณีศึกษา (ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ) และยังได้ออกรายการโทรทัศน์และลงพิมพ์ในนิตยสารทางธุรกิจอีกหลายฉบับ อย่างไรก็ดีรางวัลนี้ไม่ได้จำกัดประโยชน์อยู่เฉพาะผู้ชนะเท่านั้น แต่ส่งผลไปยังบริษัทต่างๆที่ส่งใบสมัครเข้ามายัง ICS เพราะบริษัทเหล่านี้จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลักการในการแข่งขันเชิง กลยุทธ์มากขึ้น โดยการได้พูดคุยกับสมาชิกในคณะของ ICS อย่างต่อเนื่อง และได้เข้าร่วมงานสัมมนาเรื่องกลยุทธ์กับศาสตราจารย์ Porter ที่จัดขึ้นต้นเดือนธันวาคมด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Porter Prize ได้ที่ http://www.porterprize.org/)


           พวกเราทุกคนที่มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขัน รางวัล Porter Prize ครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยน แปลงเพื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ ผู้ชนะรางวัลทำให้เราเชื่อว่า "ญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้"



ที่มา : วารสาร Focus Japan ฉบับเดือน มีนาคม 2546
วารสาร Focus Japan จัดพิมพ์โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เนื้อหาครอบคลุมเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และ ตลาดการค้าภายในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งวีถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวญี่ปุ่น
รายละเอียดเพิ่มเติม ค้นหาในเว็บไซต์ http://www.jetrobkk.or.th/html/whatsnew14.html