การบริหาร SMEs กับการตอบรับกระแสภาวะโลกร้อน

              ปัจจุบันเริ่มมีการตื่นตัวกับภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น โดยเห็นได้จากหลายฝ่ายได้มี การรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
และดำรงตนเองให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งปัจจุบันการผลิตเพื่อการบริโภคแบบสุดโต่งนี้ ได้นำไปสู่การใช้ทรัพยากร
แบบเปล่าประโยชน์ และในบางครั้งอาจให้โทษมหันต์เสียด้วยซ้ำ เช่น ชาวอเมริกันราว 2 ใน 3 คนอ้วนจนเกินพอดีในขณะที่ 1 ใน 3 คน
อ้วนจนเข้าขั้นอันตราย (Obese) ชาวอเมริกันโยนทิ้งเสื้อผ้าดีๆ ปีละหลายแสนตัน ส่วนหนึ่งกลายเป็นขยะซึ่งในขณะนี้หาที่ฝังแทบไม่ได้ อีกส่วน
หนึ่งถูกนำเอาไปให้คนจนทั้งในอเมริกาและในส่วนอื่นของโลก และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปขายในประเทศด้อยพัฒนารวมทั้งประเทศไทยด้วย

              เมื่อปี 2546 ชาวอเมริกันส่งเสื้อผ้าดังกล่าวออกไปขายในต่างประเทศถึงราว 3.9 แสนตัน (มีรายละเอียดในหนังสือเรื่อง Globaloney
และเรื่อง Salaula) ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาขนาดบ้านของชาวอเมริกันกว้างขึ้นเกือบ 2 เท่าทั้งที่ชาวอเมริกันมีลูกน้อยลงทำให้ในแต่ละบ้าน
โดยเฉลี่ยมีจำนวนคนลดลงจาก 3.32 คนเหลือเพียง 2.58 คน นั่นหมายความว่าในด้านที่อยู่อาศัยชาวอเมริกันใช้ทั้งวัสดุ และ พลังงานในการ
ทำความร้อน / ความเย็นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

              หากคำนวณตามหลักเศรษฐกิจกระแสหลักในปัจจุบันชาวอเมริกันบริโภคมากกว่าชาวโลกสูงถึงประมาณ 7 เท่า ชาวโลกโดยทั่วไป
ต้องการเลียนแบบชาวอเมริกัน ทั้งที่ยังบริโภคน้อยกว่าชาวอเมริกัน แต่การบริโภคของชาวโลกในขณะนี้ ก็นำไปสู่การขาดสมดุลอย่างร้ายแรง
ของระบบนิเวศและภาวะโลกร้อนแล้ว ลองคิดดูง่ายๆ ว่าถ้าชาวโลกบริโภคเท่าชาวอเมริกัน ณ วันนี้ โลกจะต้องมีทรัพยากรเพิ่มอีกเท่าไร

              ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นปรากฏการณ์ อันเนืองมาจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ จึงทำให้
โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปัจจุบัน โลกของเรากำลังถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ที่มาก เกินสมดุลธรรมชาติ
ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเก็บกักความร้อนไม่ให้สะท้อนออกนอกโลก

              โลกเรามีทรัพยากรอย่างจำกัด และเรายังมีเทคโนโลยีที่จะช่วยบรรเทาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์จึงประเมินกันว่า ปัญหาระบบนิเวศและโลกร้อนหนักหนาสาหัส ถึงขนาดจะผลักดันโลกให้เดินเข้าสู่จุดพลิกผัน
อันจะนำไปสู่ความล่มสลายในเร็ววัน ถ้ายิ่งนับความขัดแย้ง อันเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรกันเข้าไปด้วยแล้ว โลกจะยิ่งมีโอกาส
เดินเข้าสู่ความล่มสลายเร็วขึ้นอีก

              เมื่อเดือนที่แล้วนักวิทยาศาสตร์จึงเลื่อนเข็มนาฬิกาแห่งวันโลกาวินาศ (Doomsday Clock) ให้ใกล้เวลา เที่ยงคืน หรือ
จุดเริ่มต้นของวันโลกาวินาศเข้าไปอีก 2 นาที ทำให้ตอนนี้โลกอยู่ห่างจากวันโลกาวินาศเพียง 5 นาทีเท่านั้น

              เป็นเรื่องน่ายินดีที่เริ่มมีรัฐบาลบางประเทศให้ความสำคัญโดยมีนโยบายออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง เช่น รัฐบาลจีน
ได้ออกกฎระเบียบใหม่ห้ามผลิตและใช้ถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.025 มิลลิเมตร และห้ามห้างร้านต่าง ๆ แจกถุงพลาสติกฟรีแก่ลูกค้า
โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการที่จีนใช้ถุงพลาสติกมากเกินไปถึงวันละ 3,000 ล้านใบ และ
ไม่สามารถกำจัดถุงพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาขยะเกลื่อนกลาด

              ในภาวการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ที่ระดับราคาอาจถึง 200 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลทำให้
SMEs หลายแห่งได้รับผลกระทบจนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน การลดต้นทุนจากการประหยัดพลังงาน และ การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด
จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มกำไร และลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

              วิธีการบริหารจัดการ ที่สอดคล้องกับการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน มีตัวอย่างดังนี้

       1. การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ข้อมูลปี 2538 จากประเทศที่พัฒนาแล้ว 18 ประเทศ แสดงให้เห็นว่า
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาจากภาคการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ถึงร้อยละ 36 เนื่องจากมีการเผาเชื้อเพลิงจากถ่านหิน
เราสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ดังนี้

- ถอดปลักหลังเลิกใช้งาน, ปิดสวิตช์ไฟเมื่อไม่ใช้งาน และปิดจอภาพถ้าไม่ใช้งานเกิน15นาที

- ในบริเวณที่ไม่จำเป็นต้องใช้แสงสวางมากนัก เช่น เฉลียง ทางเดินห้องน้ำ ควรใช้หลอดที่มีวัตต์ต่ำ โดยอาจใช้หลอดคอมแพคบัลลาสต์ภายใน
เนื่องจากมีประสิทธิภาพการให้แสง ลูเมน/วัตต์  ( Im/W )  ดีกว่าหลอดไส้และดีกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาดไม่เกิน 18 วัตต์ด้วย
สำหรับบริเวณที่ต้องการแสงปกตินั้น หลอดผอมขนาด 36 W จะมีประสิทธิภาพการให้แสง (ลูเมนต์/วัตต์) สูงกว่าหลอดคอมแพคบัลลาสต์ภายใน
ทั่วๆไปไม่ต่ำกว่า 10 % และยิ่งจะมีประสิทธิภาพการให้แสงมากขึ้นถ้าหลอดผอมชนิดซุปเปอร์และใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟร่วมด้วย ดั้งนั้นจำนวน
หลอดไฟที่ใช้และการกินไฟของหลอดผอมก็จะน้อยกว่าหลอดประหยัดไฟ

- เปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ เพราะการใช้พลังงานของหลอดไส้จะให้ความสว่างแค่ร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือจะสูญเสียไป
กับการให้ความร้อนถึงร้อยละ 90

- ขึ้นลงไม่ต้องใช้ลิฟต์ เนื่องจากลิฟต์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก

- ปิดเครื่องปรับอากาศเวลาเลิกงานหรือเวลาพักเที่ยงอย่างน้อยก่อน 10 นาที, เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 26 องศา และหมั่นทำความสะอาด
แผ่นกรองอากาศ อุปกรณ์ในระบบปรับอากาศและตะแกรง รวมทั้งชุดคอนเดนเซอร์ เพื่อให้อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวก และ เป็นการประหยัดไฟ
ได้โดยตรง

- ใช้ร่มเงาจากต้นไม้ช่วยลดความร้อนในตัวอาคารสำนักงานหรือบ้านพักอาศัย ทำให้ลดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นการลดการใช้ไฟฟ้า
ได้อีกทาง
       --- ต้นไม้ 1 ต้น จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ตัน ตลอดอายุของมัน
       --- เมื่อต้นไม้คายน้ำระหว่างการสังเคราะห์แสง จะดูดความร้อนจากอากาศโดยรอบ ต้นไม้ใหญ่ที่คลุมเต็มเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา
จะดูดความร้อนคิดเป็นค่าประมาณ 1.2 ล้านกิโลกรัม / แคลลอรี่ต่อวันซึ่งเทียบเท่ากับเครื่องปรับอากาศสำหรับบ้านขนาดกลาง 2 ห้อง เปิดใช้
วันละ 12 ชั่วโมง
       --- พื้นผิวดินที่ถูกแดดโดยตรงจะร้อน 50-67 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับผิวดินใต้ร่มไม้บริเวณเดียวกัน ซึ่งจะมีอุณหภูมิเพียง 20
องศาเซลเซียส

- รวมถึงออกแบบอาคารสำนักงานให้มีการประหยัดพลังงานสูงสุด เช่นออกแบบให้ระบายความร้อนได้ดี ลดการใช้วัสดุที่ทำจากกระจก หรือ
ติดฟิล์มป้องกันความร้อนเข้ามาในตัวอาคาร หรือใส่ฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

       2. ใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ข้อมูลปี 2538 จากประเทศที่พัฒนาแล้ว 18 ประเทศ แสดงให้เห็นว่า ปริมาณ
คาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาจากภาคการขนส่งถึงร้อยละ 27 เราสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ดังนี้

- การติดต่องานหรือประชุมให้ใช้โทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมล์ หรือ Video Conference แทนการเดินทางไปด้วยตนเอง

- ใช้ระบบ Logistic เข้ามาช่วยในการขนส่ง การใช้ระบบขนส่งทางราง ระบบขนส่งทางน้ำย่อมมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าระบบขนส่งทางถนน

- จ้างบริษัท Logistic มาขนส่งแทน เพราะเมื่อบริษัท Logistic ขนส่งเสร็จขากลับจะไม่ตีกลับรถเปล่า... ไม่สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
อีกทั้งการให้บริษัท Logistic จัดการแทนยังเป็นการ outsource งานทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย

- ใช้พลังงานทางเลือกอื่นแทนการใช้น้ำมันเช่น แก๊สโซฮอล์ เอทานอล ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี แทนการใช้น้ำมัน

- จัดเส้นทางรถรับส่งพนักงาน ถ้าในหน่วยงานมีพนักงานจำนวนมากอาศัยอยู่ในเส้นทางใกล้ ๆ กัน ควรมีสวัสดิการจัดหารถรับส่งพนักงาน
ตามเส้นทางสำคัญๆ เป็น Car Pool ระดับองค์กร เป็นต้น

       3. ประหยัดการใช้กระดาษ เนื่องจาก อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ ใช้พลังงานมากเป็นอันดับ ๔ ทั้งยังก่อมลพิษทางน้ำ เป็นต้นเหตุ
ของการทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ

   คนไทยใช้กระดาษเฉลี่ยคนละ 40 กิโลกรัมต่อปี โดยกระดาษ 1 ตัน ใช้ต้นไม้ 1.2-2.2 ตัน ใช้กระแสไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้น้ำมัน
300 ลิตร ใช้น้ำในกระบวนการผลิต 20 ลูกบาศก์เมตร

   ถ้าคนไทย 65 ล้านคน จะใช้กระดาษเพิ่มเป็น 2.6 ล้านตันต่อปี ใช้ต้นไม้ในการผลิต 3.12-5.72 ล้านตัน ราคาไม้ตันละ 800 บาท คิดเป็นเงิน
2,496-4,576 ล้านบาท มีการใช้กระแสไฟฟ้าไปถึง 2,600 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี (คิดจากกระดาษ 1 ตัน มี 500 รีม ค่าไฟฟ้ารีมละ 7.7 บาท)
เป็นเงินค่ากระแสไฟฟ้าปีละ 10,010 ล้านบาท ใช้น้ำมันถึง 780 ล้านลิตร (น้ำมันดีเซลเฉลี่ยลิตรละ 25 บาท คิดเป็นเงิน 19,500 ล้านบาท)
ใช้น้ำในกระบวนการผลิต 52 ล้านลูกบาศก์เมตร (น้ำลูกบาศก์เมตรละ 7.75 บาท คิดเป็นเงิน 403 ล้านบาท) รวมแล้วประเทศไทยต้องสูญเสีย
ทรัพยากรคิดเป็นจำนวนเงินมากถึง 32,409-34,489 ล้านบาทต่อปี

- SMEs สามารถลดการใช้กระดาษ โดยเก็บไฟล์เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การแสกนเอกสารจัดเก็บไฟล์ไว้ในฐานข้อมูล (database)
หรือ ฮาร์ดดิสค์ (hard disk) การเก็บเอกสารแบบนี้สามารถเก็บเอกสารได้ปริมาณมากและค้นหาข้อมูลได้รวดเร็ว อีกทั้ง ฮาร์ดดิสค์ (hard disk)
สมัยนี้ก็มีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับปริมาณเอกสารที่เก็บได้

- กระดาษใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งปัจจุบันพบว่าป่ายูคาลิปตัส ทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลง
โดยต้นยูคาลิปตัสจะมีรากที่ใหญ่ทำให้ดินแห้งแล้ง จากดินที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นผืนทะเลทรายได้อย่างง่ายได้ จะเริ่มเห็นได้ว่า
บางประเทศมีการรณรงค์ห้ามปลูกกันแล้ว

- แยกขยะกระดาษใช้แล้วจากขยะทั่วไป เพื่อทำให้ง่ายต่อการรีไซเคิลกลับมาใช้อีกครั้ง

- เลือกใช้กระดาษรีไซเคิล กระดาษรีไซเคิลช่วยลดขั้นตอนหลายขั้นตอนในกระบวนการผลิตกระดาษ

- การใช้กระดาษให้ได้ทั้ง 2 หน้า เพราะกระบวนการผลิตกระดาษแทบทุกขั้นตอนใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

- นำ software ต่างๆมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ข้อมูลต่างๆจะอยู่ในฐานข้อมูล (database) แทนการเก็บไว้เป็นเอกสาร
ช่วยลดการใช้กระดาษได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น

       4. สนับสนุนการซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท ที่มีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ผลิต ที่อยากมีส่วนในการปกป้องโลก และเลิกสนับสนุนสินค้าของบริษัทที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

       - เลือกซื้อสินค้าที่มีป้ายฉลากเขียว ประหยัดไฟเบอร์ 5 มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะการจะได้ใบรับรองนั้น
จะต้องมีการประเมินสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นหาวัตถุดิบ

       - สนับสนุนบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14000 เป็นต้น

              เนื่องจากต้นตอของปัญหาที่จะพาโลกไปสู่ความล่มสลายได้แก่ ความหลงใหลในวัตถุซึ่งทำให้ชาวโลกมุ่งบริโภคกันแบบสุดโต่ง
ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาจะต้องมาจากการลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งทำได้โดยการลดจำนวนผู้บริโภค พร้อมกับแต่ละคนลดปริมาณการบริโภคส่วนเกิน
ของตนลง ก่อนที่โลกจะลดจำนวนผู้บริโภค ด้วยการทำลายผู้บริโภค!!... และแต่ละคนจะลดการบริโภคลงได้ คนส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยน
กรอบความคิด จากกรอบของวัตถุนิยมไปสู่กรอบใหม่ ซึ่งจะลดการใช้ทรัพยากรที่โลกมีอยู่อย่างจำกัดลง

              การเปลี่ยนกรอบความคิด หรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ถึงสภาพความเป็นจริง ดังนั้นถ้าทุกคนรู้จักบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีใช้อย่างยั่งยืน และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็น
วิธีเดียวที่จะทำให้เราเลื่อนเวลาแห่งวันโลกาวินาศ (Doomsday Clock) ไปได้อีก...

              เขียนโดย GK Acc & Tax ปรับปรุงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2551